วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะพระราชพิธีนี้ เป็นพระราชพิธีเดือนหก เรื่อง พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในเรื่องเดือนของไทยกันก่อน คิดกันง่ายๆ พวกเราลอยกระทงกันในวันเพ็ญเดือนสิบสอง จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพราะฉะนั้น เดือนอ้ายหรือเดือนหนึ่ง ก็คือเดือนธันวาคม และมกราคม ก็คือเดือนยี่หรือเดือนที่สองของไทย
สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ บอกว่าเป็นพระราชพิธีเดือนหก คือเดือนพฤษภาคม เฉพาะเดือนนี้ไทยเราถือเป็นเดือนต้นฤดูฝน เป็นฤดูกาลเริ่มต้นทำไร่ ทำนา หรือการเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ และเนื่องจากประเทศไทยที่มีการเกษตรเป็นสำคัญ พระมหากษัตริย์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้น เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรทั้งหลาย
อนึ่ง ความสำคัญของพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดังนี้
“การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมนิยมมาแต่โบราณ เช่นในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ ก็มีอยู่เสมอเป็นนิจ ไม่มีเวลาว่างเว้นด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง
แต่การพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝน น้ำท่า มากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ย และสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นอันตรายไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงต้องหาทางที่จะมาแก้ไข และทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ โดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้างทำการซึ่งไม่มีโทษ นับว่าเป็นสวัสดิมงคลตามที่มาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรง และเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”
พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเป็นองค์ประธาน ทรงจำศีล 3 วัน
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีโบราณมีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แต่มีเพียงพิธีพราหมณ์เท่านั้น จึงใช้ชื่อในครั้งนั้นว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในเวลานั้น เมื่อถึงวันประกอบพระราชพิธี พระมหากษัตริย์เสด็จออกเป็นองค์ประธานฯ จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องพิธีกรรมบางอย่าง คือ พระมหากษัตริย์มิได้ออกเป็นองค์ประธาน แต่ทรงมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำแทน ส่วนองค์พระมหากษัตริย์นั้น จะทรงจำศีลเงียบเป็นเวลา 3 วัน และถือปฏิบัติจนกระทั่งสมัยอยุธยาตอนปลาย
เมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็มิได้ทรงละทิ้งพระราชพิธีนี้ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงพิธีกรรมบางอย่าง คือ ผู้ที่ทำหน้าที่พระยาแรกนานั้น เป็นเจ้าพระยาพหลเทพ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ผู้ที่ยืนชิงช้าถือตำแหน่งพระยาแรกนาอีกอย่างหนึ่ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีเกี่ยวกับศาสนาพุทธเข้าไปด้วย แล้วเรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคล และมีชื่อเต็มทั้งสองพระราชพิธี เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สำหรับพระราชพิธีพืชมงคล ก็โดยนำข้าวเปลือกทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว และธัญพืชสำคัญๆ รวม 40 ชนิด ไปประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ก่อนนำไปทำพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง ส่วนพระโคที่จะเข้าพิธีไถหว่านต้องคัดเป็นพิเศษ เพราะวัวในปัจจุบันนี้ (ถ้าไม่ได้เลี้ยงไว้เพื่อพิธีนี้ จะหาวัวที่เหมาะสมยาก) ได้มีการเสนอแนวความคิด “โคลนนิ่ง” วัวหรือโค เพื่อนำไปประกอบพระราชพิธีดังกล่าวนี้ด้วยแล้ว
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พลันหยุดชะงักและแล้วพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ต้องมาหยุดชะงัก และเลิกร้างไป เมื่อ พ.ศ.2475 ด้วยปัญหาเกี่ยวกับบ้านเมืองหลายอย่าง หลายประการ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นประมาณ ปีพ.ศ.2503 หรือ 28 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ขึ้นมาอีกครั้ง
อนึ่ง หากผู้เขียนจำไม่ผิด น่าจะเป็นยุคสมัยเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกและรื้อฟื้นพระราชพิธีดังกล่าวขึ้นมาอีก โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการเป็นประจำทุกปีตลอดมา และเนื่องจากพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร จึงมีการพิมพ์ธนบัตรพระราชพิธีแรกนาขวัญขึ้น ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ธนบัตรไถนา”
ธนบัตรไทย แบบที่ 2 (ไถนา)
ก่อนอื่นขอกระซิบเบาๆ ว่าใครมีธนบัตรไถนา โปรดเก็บไว้ ถือเป็นสมบัติหรือมรดก ที่จะยกให้กับลูกหลาน มันประมาณค่ายาก เพราะตามราคาซื้อขายหรือประมูลแต่ละครั้งมันมากกว่าราคาธนบัตรหลายสิบเท่าเชียวแหละ
ธนบัตรไถนา ชนิดราคา 1 บาท รุ่นที่ 1
ลักษณะพื้นสีเหลือง กรอบและลายสีน้ำเงิน มีครุฑอยู่ด้านบนมุมซ้าย และช้างสามเศียรอยู่ด้านล่างมุมขวา ตรงกลางด้านบนมีอักษร “รัฐบาลสยาม” และ “สัญญาจะจ่ายเงินให้แก่ผู้นำธนบัตรนี้มาขึ้นเป็นเงินตราสยาม” ด้านหลังเป็นรูปพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ขนาด 7.5 Î13.5 ซ.ม.
ประกาศใช้ 21 กรกฎาคม 2468
ลายเซ็น 1. ศุภโยคเกษม (พ.ศ.2468-2470)
ธนบัตรไถนา มีตั้งแต่ชนิดราคา 1 บาท 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1,000 บาท ชนิดราคามี 2 รุ่น รวม 6 ชนิดราคา มี 12 รุ่น หรือ 12 แบบ ซึ่งแต่ละแบบแต่ละรุ่น จะต่างกันที่สี ราคา วันประกาศใช้ และลายเซ็น รวมทั้งบางรุ่นมีการปรับปรุงภาษาที่ใช้ด้วย
ดวงตราไปรษณียากรพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
นอกจากจะมีธนบัตรไถนาแล้ว แสตมป์ หรือตราไปรษณียากรก็มี แสตมป์ไถนากับเขาด้วยเหมือนกัน งานพระราชพิธีสำคัญๆ เช่นนี้ต้องมีไว้เป็นที่ระลึกแน่นอน แต่ทว่าการสื่อสารแห่งประเทศไทย (หรือบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ในปัจจุบัน) ได้ออกแสตมป์ชุดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญให้กับชุด 100 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2535 ในหนึ่งชุดมี 4 แบบ 4 สี ราคาหน้าดวง 2 บาท 3 บาท 4 บาท และ 5 บาท ซึ่งเป็นชุดแสตมป์ที่พิมพ์จากประเทศออสเตรเลีย
เทพีคู่ทอง คู่เงิน จะหาโสดสดๆ ยาก
ในสมัยโบราณก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ตำแหน่งพระยาแรกนาขวัญ ผู้ทำหน้าที่ในการไถ และหว่านเมล็ดลงในแปลงนาพระราชพิธี พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เสนาบดีกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ส่วนของการจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ยังเหมือนโบราณราชประเพณีทุกอย่าง แต่ในส่วนของพระยาแรกนา และเทพีได้มีการเปลี่ยนแปลงด้วย เหตุของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และตำแหน่งหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ คือ พระยาแรกนา ผู้ทำหน้าที่นี้ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีผู้ทำหน้าที่นี้ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป (หรือซี 6 ขึ้นไป) และต้องเป็น สตรีโสด สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น
เจ้าผู้ปกครองน่าจะได้สนีบสนุนให้เยาวชนของไทยได้ชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ส่วนพ่อก็จะได้แอบชมเทพีคู่หาบเงินหาบทอง ที่ว่าเป็นโสดด้วยไงละขอรับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น