วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะพระราชพิธีนี้ เป็นพระราชพิธีเดือนหก เรื่อง พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจในเรื่องเดือนของไทยกันก่อน คิดกันง่ายๆ พวกเราลอยกระทงกันในวันเพ็ญเดือนสิบสอง จะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน เพราะฉะนั้น เดือนอ้ายหรือเดือนหนึ่ง ก็คือเดือนธันวาคม และมกราคม ก็คือเดือนยี่หรือเดือนที่สองของไทย
สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ บอกว่าเป็นพระราชพิธีเดือนหก คือเดือนพฤษภาคม เฉพาะเดือนนี้ไทยเราถือเป็นเดือนต้นฤดูฝน เป็นฤดูกาลเริ่มต้นทำไร่ ทำนา หรือการเพาะปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ และเนื่องจากประเทศไทยที่มีการเกษตรเป็นสำคัญ พระมหากษัตริย์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้น เพื่อเป็นการบำรุงขวัญและกำลังใจให้กับเกษตรกรทั้งหลาย
อนึ่ง ความสำคัญของพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญดังที่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดังนี้
“การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นธรรมเนียมนิยมมาแต่โบราณ เช่นในเมืองจีนสี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ ก็มีอยู่เสมอเป็นนิจ ไม่มีเวลาว่างเว้นด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทำเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทำนา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่น และความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง
แต่การพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่างเหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตนตามปกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือ น้ำฝน น้ำท่า มากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ย และสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นอันตรายไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกำลัง จึงต้องหาทางที่จะมาแก้ไข และทางที่จะอุดหนุนและที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ โดยอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้างทำการซึ่งไม่มีโทษ นับว่าเป็นสวัสดิมงคลตามที่มาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรง และเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ ซึ่งคิดไม่มีที่สิ้นสุด”
พระมหากษัตริย์มิได้ทรงเป็นองค์ประธาน ทรงจำศีล 3 วัน
การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีโบราณมีมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี แต่มีเพียงพิธีพราหมณ์เท่านั้น จึงใช้ชื่อในครั้งนั้นว่า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในเวลานั้น เมื่อถึงวันประกอบพระราชพิธี พระมหากษัตริย์เสด็จออกเป็นองค์ประธานฯ จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องพิธีกรรมบางอย่าง คือ พระมหากษัตริย์มิได้ออกเป็นองค์ประธาน แต่ทรงมอบอำนาจให้ผู้อื่นกระทำแทน ส่วนองค์พระมหากษัตริย์นั้น จะทรงจำศีลเงียบเป็นเวลา 3 วัน และถือปฏิบัติจนกระทั่งสมัยอยุธยาตอนปลาย
เมื่อถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็มิได้ทรงละทิ้งพระราชพิธีนี้ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงพิธีกรรมบางอย่าง คือ ผู้ที่ทำหน้าที่พระยาแรกนานั้น เป็นเจ้าพระยาพหลเทพ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ผู้ที่ยืนชิงช้าถือตำแหน่งพระยาแรกนาอีกอย่างหนึ่ง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพิธีเกี่ยวกับศาสนาพุทธเข้าไปด้วย แล้วเรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคล และมีชื่อเต็มทั้งสองพระราชพิธี เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สำหรับพระราชพิธีพืชมงคล ก็โดยนำข้าวเปลือกทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว และธัญพืชสำคัญๆ รวม 40 ชนิด ไปประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ก่อนนำไปทำพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ท้องสนามหลวง ส่วนพระโคที่จะเข้าพิธีไถหว่านต้องคัดเป็นพิเศษ เพราะวัวในปัจจุบันนี้ (ถ้าไม่ได้เลี้ยงไว้เพื่อพิธีนี้ จะหาวัวที่เหมาะสมยาก) ได้มีการเสนอแนวความคิด “โคลนนิ่ง” วัวหรือโค เพื่อนำไปประกอบพระราชพิธีดังกล่าวนี้ด้วยแล้ว
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พลันหยุดชะงักและแล้วพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ต้องมาหยุดชะงัก และเลิกร้างไป เมื่อ พ.ศ.2475 ด้วยปัญหาเกี่ยวกับบ้านเมืองหลายอย่าง หลายประการ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นประมาณ ปีพ.ศ.2503 หรือ 28 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ขึ้นมาอีกครั้ง
อนึ่ง หากผู้เขียนจำไม่ผิด น่าจะเป็นยุคสมัยเผด็จการ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกและรื้อฟื้นพระราชพิธีดังกล่าวขึ้นมาอีก โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินการเป็นประจำทุกปีตลอดมา และเนื่องจากพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการเพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร จึงมีการพิมพ์ธนบัตรพระราชพิธีแรกนาขวัญขึ้น ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ธนบัตรไถนา”
ธนบัตรไทย แบบที่ 2 (ไถนา)
ก่อนอื่นขอกระซิบเบาๆ ว่าใครมีธนบัตรไถนา โปรดเก็บไว้ ถือเป็นสมบัติหรือมรดก ที่จะยกให้กับลูกหลาน มันประมาณค่ายาก เพราะตามราคาซื้อขายหรือประมูลแต่ละครั้งมันมากกว่าราคาธนบัตรหลายสิบเท่าเชียวแหละ
ธนบัตรไถนา ชนิดราคา 1 บาท รุ่นที่ 1
ลักษณะพื้นสีเหลือง กรอบและลายสีน้ำเงิน มีครุฑอยู่ด้านบนมุมซ้าย และช้างสามเศียรอยู่ด้านล่างมุมขวา ตรงกลางด้านบนมีอักษร “รัฐบาลสยาม” และ “สัญญาจะจ่ายเงินให้แก่ผู้นำธนบัตรนี้มาขึ้นเป็นเงินตราสยาม” ด้านหลังเป็นรูปพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ขนาด 7.5 Î13.5 ซ.ม.
ประกาศใช้ 21 กรกฎาคม 2468
ลายเซ็น 1. ศุภโยคเกษม (พ.ศ.2468-2470)
ธนบัตรไถนา มีตั้งแต่ชนิดราคา 1 บาท 5 บาท 10 บาท 20 บาท 100 บาท และ 1,000 บาท ชนิดราคามี 2 รุ่น รวม 6 ชนิดราคา มี 12 รุ่น หรือ 12 แบบ ซึ่งแต่ละแบบแต่ละรุ่น จะต่างกันที่สี ราคา วันประกาศใช้ และลายเซ็น รวมทั้งบางรุ่นมีการปรับปรุงภาษาที่ใช้ด้วย
ดวงตราไปรษณียากรพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
นอกจากจะมีธนบัตรไถนาแล้ว แสตมป์ หรือตราไปรษณียากรก็มี แสตมป์ไถนากับเขาด้วยเหมือนกัน งานพระราชพิธีสำคัญๆ เช่นนี้ต้องมีไว้เป็นที่ระลึกแน่นอน แต่ทว่าการสื่อสารแห่งประเทศไทย (หรือบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ในปัจจุบัน) ได้ออกแสตมป์ชุดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญให้กับชุด 100 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2535 ในหนึ่งชุดมี 4 แบบ 4 สี ราคาหน้าดวง 2 บาท 3 บาท 4 บาท และ 5 บาท ซึ่งเป็นชุดแสตมป์ที่พิมพ์จากประเทศออสเตรเลีย
เทพีคู่ทอง คู่เงิน จะหาโสดสดๆ ยาก
ในสมัยโบราณก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ตำแหน่งพระยาแรกนาขวัญ ผู้ทำหน้าที่ในการไถ และหว่านเมล็ดลงในแปลงนาพระราชพิธี พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เสนาบดีกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้ ส่วนของการจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้ยังเหมือนโบราณราชประเพณีทุกอย่าง แต่ในส่วนของพระยาแรกนา และเทพีได้มีการเปลี่ยนแปลงด้วย เหตุของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง และตำแหน่งหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ คือ พระยาแรกนา ผู้ทำหน้าที่นี้ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีผู้ทำหน้าที่นี้ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นโทขึ้นไป (หรือซี 6 ขึ้นไป) และต้องเป็น สตรีโสด สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น
เจ้าผู้ปกครองน่าจะได้สนีบสนุนให้เยาวชนของไทยได้ชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ส่วนพ่อก็จะได้แอบชมเทพีคู่หาบเงินหาบทอง ที่ว่าเป็นโสดด้วยไงละขอรับ
พระราชพิธีฉัตรมงคล วันนักขัตฤกษ์มงคลกาล
จากหนังสือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำ “ฉัตร” ว่า “เครื่องสูงชนิดหนึ่ง มีรูปคล้ายร่ม ที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่างลดหลั่นกันไปโดยลำดับ สำหรับแขวน ปักตั้งหรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ”
และคำว่า ฉัตรมงคล หมายถึง พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับ “วันบรมราชาภิเษก”

เกิดความสับสนในเรื่องวัน และในเรื่องงาน
จากหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชพิธีฉัตรมงคล ว่า ธรรมเนียมแต่ก่อนมีมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปลี่ยนปีใหม่ ถึงเดือนหก พนักงานข้างหน้าข้างในบรรดาซึ่งรักษาเครื่องราชูปโภค และรักษาตำแหน่งหน้าที่ มีพระทวาร และประตูวัง เป็นต้น ต้องทำการสมโภชเครื่องราชูปโภค และตำแหน่งซึ่งตนรักษาคราวหนึ่ง ข้างฝ่ายหน้า แต่ก่อนมาถึงมีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วยก็มี แต่ข้างฝ่ายในนั้น มีแต่เครื่องสังเวย เครื่องประโคม แล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายอุบะมาลัย เป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำเอง หาได้เกี่ยวข้องเป็นการหลวงไม่

ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก ในวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุน ตรีศก จุลศักราช 1213 จึงทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษก นั้น เป็นมหามงคลสมัย ซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง ย่อมนับถือวันนั้นว่าเป็น วันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามนี้ เฉยๆ อยู่มิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้ กาลบรมราชาภิเษกของพระองค์เฉพาะตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานเคยสมโภชเครื่องสิริราชูปโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ

ไม่มีใครทราบว่า ฉัตรมงคล แปลว่า ทำบุญอะไร
รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล ซึ่งพระราชทานชื่อว่า ฉัตรมงคล นี้ขึ้น แต่ข้อความซึ่งจะอธิบายในพระราชดำริให้เข้าใจกันในเวลานั้นว่า เป็นการทำบุญวันบรมราชาภิเษก เป็นการเข้าใจยากของคนในเวลานั้น หรือจะเป็นข้อทุ่มเถียงท้วงติงไปว่าเป็นการไม่เคยมี จึงได้ทรงพระราชดำริให้ปรากฏว่า เป็นการสมโภชเครื่องราชูปโภคอย่างเก่า ซึ่งไม่มีผู้ใดจะทุ่มเถียงได้ จนผู้หลักผู้ใหญ่ไม่มีใครทราบว่า ฉัตรมงคล แปลว่า ทำบุญอะไร

ยกเว้นแต่กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ซึ่งข้าพเจ้ามิได้ฟังรับสั่งท่านเอง แต่สังเกตได้ในคำฉันท์กล่อมพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งรู้ได้ว่าท่านเข้าพระทัย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งได้สนทนากัน เพราะฉะนั้น การพระราชพิธีฉัตรมงคลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการสวดมนต์ ในเดือน 6 ขึ้น 13 ค่ำ ขึ้น 14 ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้น 14 ค่ำ สวดมนต์ 15 ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และขึ้น 15 ค่ำ สวดมนต์ แรม 1 ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

รัชกาลที่ 5 น้อยพระทัย พระราชพิธีฉัตรมงคลเหมือนเดิม
ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ การพระราชพิธีฉัตรมงคล ท่านผู้บัญชาการก็ให้คงทำอยู่เดือนหกเช่นนั้น ข้าพเจ้าได้ทักท้วงขึ้นก็ไม่ตลอดไปได้ ด้วยกรมหลวงวงศาธิราชสนิท และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นด้วย เถียงไปตามทางที่เป็นสมโภชพระที่นั่น อ้างคำฉันท์ก็ไม่อ่าน ข้าพเจ้าเป็นเด็กมีน้ำหนักน้อย และดูก็เป็นการไม่พอที่จะวิวาทกันด้วยเหตุไม่เป็นเรื่องจึงได้นิ่งระงับเสีย
จนถึงปีระกา เบญจศก เมื่อสร้างตราจุลจอมเกล้าเปลี่ยนได้ด้วย พาโลเป็นทำบุญตามพระราชบัญญัติวันประชุมตราจุลจอมเกล้า ก็นับได้อยู่ว่า เพราะเครื่องราชอิสริยยศจอมเกล้า พาให้เป็นที่ยินยอมพร้อมใจกันเปลี่ยนมาเดือน 12 ได้โดยไม่มีใครทักท้วงว่ากระไร ลืมการที่ได้เถียงกันในปีมะเส็ง เอกศกนั้นเสียสิ้น ในปีจอฉศก เป็นปีแรกทำการฉัตรมงคลในเดือน 12 เป็นการเรียบร้อยเหมือนไม่ได้เคยมีการฉัตรมงคลมาแต่ก่อนเลยทีเดียว

คำตักเตือนในการฉัตรมงคล

การฉัตรมงคลนี้คงทำตามแบบอย่างซึ่งได้ทำมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเต็มตามตำราอย่าง เพิ่มขึ้นแต่อาลักษณ์อ่านคำประกาศ ยิงสลุตในวันแรม 12 ค่ำ เพิ่งเกิดมีขึ้น เมื่อปีมะเมียจัตวาศก 1244 กับการที่ประชุมถวายบังคมพระบรมรูป ซึ่งมีขึ้นตามกฎหมายตราจุลจอมเกล้า

การพระราชกุศล คือ พระราชาคณะพระครูมีนิตยภัต วันละ 30 รูป สวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้าฉัน สำรับที่เลี้ยงพระเป็นของหลวงสำรับหนึ่ง นอกนั้นขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทอง เป็นต้น ที่นมัสการตั้งพระชัยสำหรับแผ่นดิน 5 รัชกาลที่พระแท่นเศวตฉัตร ตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงประจำแผ่นดิน มีเครื่องนมัสการทองน้อย ตั้งต้นไม้ทองเงิน 2 คู่ ตั้งบายศรีแก้วทองเงิน มีแว่นเวียนเทียน เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แล้วอาลักษณ์อ่านคำประกาศเป็นกลอนลิลิต ฯลฯ
พระสงฆ์ที่จะมาสวดมนต์ และรับพระราชทานฉัน ควรจะใช้ตาลปัตรรอง และฝาบาตรเชิงบาตร ในการบรมราชาภิเษกในปีระกา เบญจศก และถ้าพอจะมาได้ไม่ควรจะบิดเบือนเชือนแชไปเที่ยวสวดมนต์เที่ยวฉันเสียที่อื่น เช่น พระธรรมเจดีย์ วัดอรุณ (พระธรรมเจดีย์ชื่อทอง ต้องลดยศพระเทพมุนี ภายหลังกลับได้เป็นพระธรรมไตรโลก) และพระธรรมภาณพิลาศ วัดประยูรวงศ์ (พระโพธิวงศ์ ชื่อผ่อง เป็นพระโพธิวงศ์ (เสมอเทพ) ต้องลดลงเป็นพระธรรมภาณพิลาศ ภายหลังได้พระราชทานพัดแฉกประดับพลอยอย่างเดิม) เพราะเป็นการสำคัญคล้ายถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ถ้าไม่ป่วยไข้มากก็ไม่ควรจะขาด ในเวลาถวายบังคมพระบรมรูป ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพนับถือต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งห้าพระองค์ปีละครั้ง

พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชกุศลในวันฉัตรมงคล รวม 3 วัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นพิธีสงฆ์ งานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี อุทิศถวายแด่พระบรมราชบุรพการี
ในวันที่ 4 พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร พระราชครูหัวหน้าพราหมณ์ อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น

ในวันฉัตรมงคล คือ วันที่ 5 พฤษภาคม ในตอนเช้าทรงพระราชทานภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พราหมณ์เบิกแว่นเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เมื่อถึงเวลาเที่ยงตรง ทหารเรือและทหารบกยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ พร้อมกัน 2 กอง รวม 42 นัด นอกจากนี้ ยังมีพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราจุลจอมเกล้า ให้แก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานด้วย หลังจากนั้นทรงเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
พระปฐมราชโองการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช หรือ “ในหลวง” ของพสกนิกรชาวไทย ทรงพระราชทานไว้ในพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 จวบจนวันนี้ นับเป็นเวลา 60 ปีแล้ว ที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติ ปกครองพสกนิกรด้วยทศพิธราชธรรม ขจัดทุกข์ บำรุงสุขให้ไพร่ฟ้าประชาชนได้อยู่เย็นเป็นสุขภายใต้ร่มบรมโพธิสมภาร

“ดำริไว้สถิตในใจทั่วหล้า

ดำริก่อเกิดประชาแห่งฟ้าหลวง

ดำริในแผ่นดินไทยใจทุกดวง

ด้วยดำริแห่งพ่อหลวงของปวงไทย”

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า THAITOWN USA NEWS

(บทร้อยกรองของบริษัทในเครือเจเนซิสกรุ๊ป)


พิธีเวียนเทียนสมโภชสิริราชสมบัติ

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือเครื่องหมายแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี ฉลองพระบาท

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ในวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 (ภาพประกอบ จากแผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึก และตราไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด)

เมื่อทรงเสด็จพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค เพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาสเฝ้าชมพระบารมี

วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ธงพระอิสริยศ


ลํกษณะธงชัยเฉลิมพลในกองทัพบก

ประเภทของธงชัยเฉลิมพล

ตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 ได้กำหนดประเภทของธงชัยเฉลิมพลไว้ 3 ชนิด คือ ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ และธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ ซึ่งมีลักษณะดังนี้

ธงชัยเฉลิมพลกองทัพบก

ธงชัยเฉลิมพลทหารมหาดเล็ก

ธงชัยเฉลิมพลกองทัพอากาศ

ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก

การเชิญธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารต่างๆ ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ธงชัยเฉลิมพลของทหารบก มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 70 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีอุณาโลมทหารบกและมีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้งโอบใต้อุณาโลมทหารบก ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้า ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลือง กว้าง 2 เซนติเมตร...ธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารในกองบัญชาการทหารสูงสุด มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชัยเฉลิมพลของทหารบกตามวรรคหนึ่ง
ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ
ธงชัยเฉลิมพลของทหารเรือ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางของผืนธงมีรูปจักรแปดแฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้ายและมีสมอสอดวงจักร ภายใต้พระมหามงกุฎ รูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง ขอบธงด้านที่ติดกับคันธง มีเกลียวเชือกสีแดง
หากจะกล่าวอีกนัยหนึ่งแล้ว ธงนี้ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันกับธงฉานนั่นเอง

ธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ
ธงชัยเฉลิมพลของทหารอากาศ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ 70 เซนติเมตร ตรงกลางของผืนธงมีดวงกลมสีฟ้าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 2 ใน 3 ส่วนของความกว้างของผืนธง ภายในดวงกลมมีอุณาโลมทหารอากาศ และมีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลืองเป็นแถวโค้งโอบใต้ดวงกลมสีฟ้า ผืนธงมุมด้านบนที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้าขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลืองกว้าง 2 เซนติเมตร
ธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

การเชิญธงชัยเฉลิมพลทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของทหารมหาดเล็กกองเกียรติยศเมื่อเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชพิธีในวังหลวงอย่างไรก็ตาม ในมาตรา 14 พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 วรรค 2 ได้กำหนดให้หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ซึ่งมีธงชัยเฉลิมพลของทหารบกแล้ว จะมีธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งธงก็ได้ ธงนี้มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ
กว้าง 70 เซนติเมตร
ยาว 105 เซนติเมตร
ตรงกลางของผืนธงมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงกว้าง 35 เซนติเมตร ยาว 52.5 เซนติเมตร
ภายในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าหาคันธง ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีเหลือง และมีชื่อหน่วยทหารสีเหลืองเป็นแถวโค้งโอบใต้พระปรมาภิไธยย่อ
ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลืองกว้าง 2 เซนติเมตร

ธงนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เริ่มพระราชทานให้หน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เมื่อ พ.ศ. 2496 โดยหน่วยทหารหน่วยแรกที่ได้รับพระราชทานคือ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

พระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล
ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร องค์พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหารเป็นคราวๆ ละหลายธง โดยประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา พระราชพิธีตรึงหมุด ธงชัยเฉลิมพล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีนี้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตรึงธงแต่ละผืนติดกับด้ามธง โดยทรงตอกฆ้อนเงินลงบนตะปูทองเหลืองอย่างแน่น
ธงหนึ่งมีรูตะปูประมาณ 32-35 ตัว ที่ส่วนบนของคันธงจะมีลักษณะเป็นปุ่มโลหะกลึงกลมสีทองภายในกลวง ปุ่มกลมนั้นทำเป็นฝาเกลียวปิด-เปิดได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงบรรจุเส้นพระเจ้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปที่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกแล้ว ชื่อ พระยอดธง ลงในปุ่มกลมแล้วทรงปิดฝาเกลียวขันแน่น ทรงเจิมแป้งกระแจะจันทน์ที่ยอดธงทุกคัน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา

ความหมายของธงชัยเฉลิมพล
ความหมายสำคัญของธงชัยเฉลิมพล มี 3 ประการ คือ

1 ผืนธง หมายถึง ชาติ
3 เส้นพระเจ้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์



วันกองทัพไทย

ประวัติวันกองทัพไทย กองทัพไทยมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เคียงข้างกับการสร้างประเทศชาติให้เป็นปึกแผ่นและเจริญรุ่งเรืองมายาวนาน นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยที่ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้รวบรวมชาวไทยตั้งราชอาณาจักรโดยยึดหลักในการ สร้างกองทัพเพื่อป้องกันประเทศว่า “ชายฉกรรจ์ทุกคน ต้องเป็นทหาร เพื่อจะได้ ป้องกันบ้านเมืองให้ปลอดภัย”
ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาปีพุทธศักราช ๑๙๙๑ ตรงกับ รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการแบ่งกิจการทหารกับพลเรือนออกจากกัน ในส่วนราชการทหารทรงแต่งตั้งสมุหกลาโหมเป็นผู้บังคับ-บัญชา มีการจัดกำลังแบ่งเป็น ๔ เหล่า ได้แก่
ราบ (เดินเท้า) ม้า รถ ช้าง หรือที่เรียกว่า“จตุรงคเสนา”
ปีพุทธศักราช ๒๐๘๑ ในรัชสมัยพระชัยราชาธิราช ได้มีการใช้อาวุธที่ทันสมัยในกองทัพ โดยใช้ปืนไฟในการรบกับพม่าเป็นครั้งแรกที่เมืองเชียงกราน
ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๑๙๙ จึงได้ริเริ่มสร้างปืนไฟขึ้นใช้เอง ประเทศไทยของเรานั้นเป็นประเทศที่มีอาณาเขตจรดทะเลและดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้มีความจำเป็นต้องมีทั้งกำลังทางเรือ และกำลังทางบกไว้เพื่อปกป้องราชอาณาจักร โดยในระยะแรกนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ยังไม่มีการแบ่งแยกทหารบกและทหารเรือ คงใช้ กองทัพในลักษณะรวมการปกป้องประเทศชาติตามแต่ว่าจะมีภัยรุกรานจากทางด้านใด
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาท-สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงริเริ่มให้มีการปรับปรุงกำลังทหารให้ทันสมัย ขึ้นเป็นครั้งแรก
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงได้ให้มีการปรับปรุงกิจการทหารแบบสมัยใหม่อย่างจริงจัง โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๓๐ เพื่อบังคับบัญชา ทหารบกและทหารเรืออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และได้กำหนดให้วันที่ ๘ เมษายนของทุกปี เป็น “วันกลาโหม”และต่อมา ได้ถือว่าเป็น “วันกองทัพไทย”ปัจจุบันวันกองทัพไทยตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคมของทุกปี โดยได้ถือเอาวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย คือ วันที่สมเด็จ- พระนเรศวรมหาราช ได้ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เมื่อวันจันทร์ เดือนสอง แรมสองค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๑๓๕ เป็นจุดเริ่มต้นของวันกองทัพไทย
กองทัพไทย ได้ผ่านการพัฒนาและมีวิวัฒนาการก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้ในปัจจุบันสามารถมั่นใจได้ว่ากองทัพบกจะเป็นกำลังหลักที่สำคัญของชาติในการปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับกองทัพเรือที่ปกป้องราชอาณาจักรทางทะเล และกองทัพอากาศ ในการทำหน้าที่ปกป้องน่านฟ้าไทย ทุกกองทัพต่างปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันในการป้องกันอธิปไตยของชาติ โดยมี กองบัญชาการทหารสูงสุด ทำหน้าที่ควบคุม บังคับบัญชา และประสานงาน ระหว่างเหล่าทัพทั้งสาม แม้ว่าประเทศไทยของเราจะคงความเป็นปึกแผ่นและมั่นคงมาเป็นเวลานับร้อยปีแล้ว กองทัพไทยของเราก็ยังคงปฏิบัติภารกิจสำคัญและทรงเกียรติ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นภารกิจป้องกันการรุกรานภายนอกประเทศ หรือภารกิจเพื่อความมั่นคงภายในประเทศ การต่อต้านก่อการร้ายต่าง ๆ รวมทั้ง การพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญ และความสงบสุขในทุกๆ ด้านให้แก่ประชาชนชาวไทยตลอดไป
ธงชัยเฉลิมพล “ธงชัยเฉลิมพล” หมายถึง ธง ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะประจำหน่วยทหาร เป็นสิ่งชักนำความองอาจแห่งหมู่ทหารทั้งปวง ให้มีชัยชนะต่อข้าศึกด้วยความกล้าหาญ นอกจากนี้แล้วธงชัยเฉลิมพลยังประกอบด้วยสิ่งที่แสดงออกถึง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดย
ธง หมายถึง ชาติ
บนยอดคันธงบรรจุพระพุทธรูป หมายถึงศาสนา
เส้นพระเจ้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง พระมหากษัตริย์
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีตรึงหมุดธงในบริเวณพระบรมมหาราชวัง และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่บุคคลซึ่งเข้ามารับราชการทหารไม่ว่าจะเป็นหน่วยทหารหรือพลทหารจะต้องผ่านพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล จึงจะถือว่าเป็นทหารอย่างสมบูรณ์แท้จริง ปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ กำหนดให้ธงชัยเฉลิมพลให้เป็นธงประจำหน่วยทหารสำหรับพระราชทานให้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
โดยธงชัยเฉลิมพลทหารบกมีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ
รูปสีเหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๗๐ เซนติเมตร
ตรงกลางผืนธงมีรูปอุณาโลมทหารบก
มีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้งโอบใต้อุณาโลม
ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาล เป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้า
ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดง สลับดำ ส่วนด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลือง กว้าง ๒ เซนติเมตร
สำหรับ ธงชัยเฉลิมพลทหารเรือ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางผืนธงรูปจักร ๘ แฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้าย และมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎรูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง
ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดง
ส่วนธงชัยเฉลิมพลทหารอากาศมีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ ๗๐ เซนติเมตร
ตรงกลางผืนธงมีดวงกลมสีฟ้า ภายในดวงกลมมีอุณาโลม ทหารอากาศและมีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้งโอบใต้ดวงกลมสีฟ้า
ผืนธงมุมด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลืองภายใต้พระมหามงกุฎ มีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้า
ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลือง กว้าง ๒ เซนติเมตร
ธงชัยเฉลิมพล นอกจากจะเป็นที่รวมแห่งมิ่งขวัญ และจิตใจของทหารแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปในกองทัพที่ยกออกไปปฏิบัติหน้าที่ราชการสนามในการต่อสู้ข้าศึกศัตรูเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศชาติอีกด้วย
กำหนดการจัดงานวันกองทัพไทย มกราคม วันกองทัพไทย การจัดงานวันกองทัพไทย ในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และเตือนใจให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมใจกันน้อมรำลึกถึงวีรกรรม และคุณงามความดีนักรบไทยที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อ ปกป้อง รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยไว้ให้ลูกหลานสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันกองทัพไทย ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ นั้น กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้จัดร่วมกับกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ดังนี้
เวลา ๐๘.๓๐ นาฬิกา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานประกอบพิธีวางพวงมาลา สักการะดวงวิญญาณของนักรบไทยผู้กล้าหาญในอดีต ณ ลานประกอบพิธีอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง
เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา พิธีสงฆ์ และอุทิศส่วนกุศลแด่ดวงวิญญาณนักรบไทย ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง
เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จัดนายทหารชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้แทนไปเยี่ยมและมอบของขวัญแก่ทหาร ตำรวจ พลเรือน อาสาสมัครที่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศ ณ สถานพยาบาลหรือสถานพักฟื้นต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ณ โรงพยาบาลทหารผ่านศึกโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลภูมิพลอดุลเดช และโรงพยาบาลตำรวจ
เวลา ๑๔.๓๐ นาฬิกา พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงไทยเฉลิมพล ณ ที่ตั้งหน่วยทหารแต่ละเหล่าทัพ ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สำคัญยิ่ง สำหรับผู้ที่เป็นทหารรับใช้ประเทศชาติ จะเป็นทหารที่สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้กระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลแล้วเท่านั้น
กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทำพิธีที่กองพันสื่อสารทหาร ทุ่งสีกัน ดอนเมือง กองทัพบก กระทำพิธีเป็นส่วนรวมที่กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ บางเขน
กองทัพเรือ กระทำพิธีหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กองทัพอากาศ กระทำพิธี ณ ลานอเนกประสงค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ ดอนเมือง
สำหรับหน่วยทหารอื่น ๆ ที่มีที่ตั้งนอกเขตจังหวัดทหารบก กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงกัน จะกระทำพิธีรวมกัน ณ ที่ตั้งหน่วยทหาร หรือพื้นที่ที่เหมาะสม
เวลา ๒๐.๒๐ – ๒๑.๐๐ นาฬิกา หลังข่าวประจำวัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ กล่าวคำปราศรัยพร้อมเสนอผลงานที่สำคัญ ๆ ในรอบปีของกองบัญชาการทหารสูงสุด และเหล่าทัพ ทางสถานีโทรทัศน์ร่วมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถ่ายทอดทางสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ สำหรับการเผยแพร่กิจกรรมทหารกองบัญชาการทหารสูงสุดและเหล่าทัพ เสนอการกิจด้านการป้องกันประเทศ การสนับสนุนงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การฝึกบรรเทาสาธารณภัยร่วมระหว่าง ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ โดยนำเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ต่อจากคำปราศรัยของผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ

..................................................
เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาในอดีตครับ ปัจจุบัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง

ความหมายและประวัติธงชัยเฉลิมพล

ประวัติธงชัยเฉลิมพล


ธงชัยเฉลิมพล เป็นธงประจำหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธงชัยเฉลิมพลถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของทหาร ที่ทหารทุกคนต้องเคารพสักการะ และพิทักษ์รักษาไว้ด้วยชีวิต การปฏิบัติต่อธงชัยเฉลิมพลทุกขั้นตอน ต้องเป็นไปตามพิธีการ ระเบียบแบบแผนที่วางไว้อย่างเข้มงวดกวดขัน ในโอกาสที่จะเชิญธงชัยเฉลิมพลออกประจำที่ จะต้องเป็นพิธีการที่มีความสำคัญเกี่ยวกับเกียรติยศและเชิดหน้าชูตาเท่านั้น เช่น พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนของทหาร และไปราชการสงคราม เป็นต้น ธงชัยเฉลิมพล เริ่มมีในกองทัพบก เดิมจำแนกออกเป็นสองชนิด คือ
- ชนิดแรก ธงชัยประจำกองทัพ อันได้แก่ ธงจุฑาธุชธิปไตย และ ธงไพชยนต์ธวัช
- ชนิดที่สอง ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร
ธงจุฑาธุชธิปไตย นับเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพธงแรกของไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสร้างขึ้น พระราชทานแก่กองทัพไทยเมื่อปี พ.ศ. 2418 เพื่อแทนพระองค์ไปในกองทัพ ที่ยกไปปราบพวกฮ่อที่เข้ามาก่อการจลาจลในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหก และแคว้นสิบสองปันนาของไทยในครั้งนั้น
ธงมหาไพชยนต์ธวัช พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2455 เพื่อพระราชทานให้เป็น ธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพอีกธงหนึ่ง คู่กับธงจุฑาธุปธิปไตย
สำหรับธงไชยเฉลิมพลประจำกองทหาร องค์พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหารเป็นคราว ๆ ละหลายธง และในคราวหนึ่ง ๆ ธงจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน จะผิดกันในส่วนที่เป็นนายหน่วยเท่านั้น ธงชัยเฉลิมพล ได้เข้าประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา ในพระราชพิธีตรึงหมุด ธงชัยเฉลิมพล โดยองค์พระมหากษัตริย์ ทรงประกอบพิธีนี้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่ พระมหากษัตริย์ทรง ตรึงธงแต่ละผืนติดกับด้ามธง โดยทรงตอกค้อนเงินลงบนตะปูทองเหลืองอย่างแน่น
ธงหนึ่งมีรูตะปูประมาณ 32-35 ตัว ที่ส่วนบนของคันธง จะมีลักษณะเป็นปุ่มโลหะกลึงกลมสีทองภายในกลวง ปุ่มกลมนั้นทำเป็นฝาเกลียวปิด-เปิดได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงบรรจุ เส้นพระเจ้า พร้อมด้วยพระพุทธรูปที่ได้เข้าพิธีพุทธาภิเษกแล้ว ชื่อ พระยอดธง ลงในปุ่มกลมแล้วทรงปิดฝาเกลียวขันแน่น ทรงเจิมแป้งกระแจะจันทน์ที่ยอดธงทุกคัน พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา ตั้งแต่เริ่มพิธีจนจบพิธี
ความหมายสำคัญของธงชัยเฉลิมพล มี 3 ประการ คือ
- ผืนธง หมายถึง ชาติ
- บนยอดธงบรรจุพระพุทธรูป หมายถึง พุทธศาสนา
- เส้นพระเจ้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง องค์พระมหากษัตริย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงกระทำพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยทหารต่าง ๆ ทุกกรมกองทหาร ทุกคนระลึกอยู่เสมอว่าธงชัยเฉลิมพลจะปลิวสะบัดอย่างสง่างาม เป็นมิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยตลอดไป ตราบเท่าที่ประเทศไทยดำรงคงความเป็นเอกราชอยู่ได้ เป็นหน้าที่ของทหารที่จะต้องระวังรักษาธงชัยเฉลิมพลไว้ด้วยความเคารพรักและเทิดทูนไว้อย่างสูงยิ่ง เพราะธงชัยเฉลิมพลย่อมเป็นเกียรติยศของหน่วยทหารนั้น ๆ เมื่อเวลาเข้าสู่สงครามทหารทั้งปวง ต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลของหน่วยตนไว้ด้วยชีวิต ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องนำความองอาจ กล้าหาญ แห่งหมู่ทหารทั้งปวง ให้เข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรูให้ได้ชัยชนะกลับมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร ที่ใช้ในสงครามต่าง ๆ และหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานนำไปเป็นมิ่งขวัญแก่เหล่าทหารหาญในสมรภูมินั้น ๆ มีดังนี้
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2461 จำนวน 2 ธง เพื่อใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 พระราชทานแก่กองทหารบกรถยนต์ และกองบินทหารบกของไทย ที่ส่งไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในทวีปยุโรป ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้โปรดเกล้า ฯ
ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2483 เพื่อใช้ในสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทานแก่หน่วยทหารไทยในสงครามเกาหลี และสงครามเวียดนาม นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้โปรดเกล้า ฯ พระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้กับหน่วยทหารต่าง ๆ ดังนี้
25 มกราคม 2496 พระราชทานแก่กองพันทหารบก ที่ยังไม่มีธงชัยเฉลิมพลประจำ รวม 40 กองพัน 16 ธันวาคม 2519 พระราชทานให้กับหน่วยทหารในกองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และ กองทัพอากาศ รวม 21 หน่วย
19 มีนาคม 2524 พระราชทานให้กับกองพันในกองทัพบก 15 กองพัน
11 กรกฎาคม 2526 พระราชทานให้หน่วยทหาร 35 หน่วย เป็นหน่วยในกองทัพบก 31 หน่วย และหน่วยในกองทัพอากาศ ๔ หน่วย
19 มีนาคม 2530 พระราชทาน แก่หน่วยทหารรวบ 50 หน่วย
8 พฤศจิกายน 2534 พระราชทานแก่หน่วยทหารในกองทัพบก รวม 50 หน่วย
พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล สันนิษฐานว่าได้กระทำครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม 2471 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้เสด็จไปเป็นประธาน พิธีสวนสนามครั้งนี้ประกอบด้วย ทหารบก ทหารรักษาวัง และทหารเรือ ที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพ ฯ ณ ลานพระราชวังดุสิต
ในปี พ.ศ. 2493 กระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้แต่ละเหล่าทัพ แยกกันทำพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล สำหรับกองทัพบกได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน ของทุกปี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ได้มีการประกอบพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของทหารทั้งสามเหล่าทัพ ในเขตพระนครและธนบุรีร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง และต่อมาก็ได้กำหนดให้หน่วยทหารในแต่ละพื้นที่ จัดทำพิธี ฯ ภายในหน่วย เพื่อลดปัญหาการจราจร
ปัจจุบันพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตน ฯ กระทำในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี เนื่องจากวันดังกล่าว เป็นวันกองทัพไทย และในวันดังกล่าวทหารใหม่ได้ฝึกเสร็จสิ้นแล้วตามหลักสูตร และพร้อมที่จะทำการรบได้ นอกจากนั้นยังเป็นวันระลึกถึงวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถี ได้รับชัยชนะต่อข้าศึก คำปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลของทหาร
ข้าพเจ้า (ยศ นาย นามสกุล) ขอกระทำสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพเจ้า จักยอมตาย เพื่ออิสรภาพ และความสงบแห่งประเทศชาติ ข้าพเจ้า จักรักษาไว้ ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าพเจ้า จักอยู่ในศีลธรรมของศาสนา ข้าพเจ้า จะเชิดชูและรักษาไว้ ซึ่งพระบรมเดชานุภาพแห่งพระมหากษัตริย์เจ้า ข้าพเจ้า จักเชื่อถือผู้บังคับบัญชา และปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด ทั้งจักปกครองแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาโดยยุติธรรม ข้าพเจ้า จะไม่แพร่งพรายความลับของราชการเป็นอันขาด