วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

พระราชพิธีฉัตรมงคล วันนักขัตฤกษ์มงคลกาล
จากหนังสือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายคำ “ฉัตร” ว่า “เครื่องสูงชนิดหนึ่ง มีรูปคล้ายร่ม ที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่าชั้นล่างลดหลั่นกันไปโดยลำดับ สำหรับแขวน ปักตั้งหรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ”
และคำว่า ฉัตรมงคล หมายถึง พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับ “วันบรมราชาภิเษก”

เกิดความสับสนในเรื่องวัน และในเรื่องงาน
จากหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง พระราชพิธีฉัตรมงคล ว่า ธรรมเนียมแต่ก่อนมีมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเปลี่ยนปีใหม่ ถึงเดือนหก พนักงานข้างหน้าข้างในบรรดาซึ่งรักษาเครื่องราชูปโภค และรักษาตำแหน่งหน้าที่ มีพระทวาร และประตูวัง เป็นต้น ต้องทำการสมโภชเครื่องราชูปโภค และตำแหน่งซึ่งตนรักษาคราวหนึ่ง ข้างฝ่ายหน้า แต่ก่อนมาถึงมีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วยก็มี แต่ข้างฝ่ายในนั้น มีแต่เครื่องสังเวย เครื่องประโคม แล้วร้อยดอกไม้เป็นตาข่ายอุบะมาลัย เป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำเอง หาได้เกี่ยวข้องเป็นการหลวงไม่

ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก ในวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุน ตรีศก จุลศักราช 1213 จึงทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษก นั้น เป็นมหามงคลสมัย ซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครอง ย่อมนับถือวันนั้นว่าเป็น วันนักขัตฤกษ์มงคลกาล แต่ในกรุงสยามนี้ เฉยๆ อยู่มิได้มีการนักขัตฤกษ์อันใด ครั้งนี้ กาลบรมราชาภิเษกของพระองค์เฉพาะตรงกับสมัยที่เจ้าพนักงานเคยสมโภชเครื่องสิริราชูปโภคแต่เดิมมา ควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ

ไม่มีใครทราบว่า ฉัตรมงคล แปลว่า ทำบุญอะไร
รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศล ซึ่งพระราชทานชื่อว่า ฉัตรมงคล นี้ขึ้น แต่ข้อความซึ่งจะอธิบายในพระราชดำริให้เข้าใจกันในเวลานั้นว่า เป็นการทำบุญวันบรมราชาภิเษก เป็นการเข้าใจยากของคนในเวลานั้น หรือจะเป็นข้อทุ่มเถียงท้วงติงไปว่าเป็นการไม่เคยมี จึงได้ทรงพระราชดำริให้ปรากฏว่า เป็นการสมโภชเครื่องราชูปโภคอย่างเก่า ซึ่งไม่มีผู้ใดจะทุ่มเถียงได้ จนผู้หลักผู้ใหญ่ไม่มีใครทราบว่า ฉัตรมงคล แปลว่า ทำบุญอะไร

ยกเว้นแต่กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ซึ่งข้าพเจ้ามิได้ฟังรับสั่งท่านเอง แต่สังเกตได้ในคำฉันท์กล่อมพระมหาเศวตฉัตร ซึ่งรู้ได้ว่าท่านเข้าพระทัย และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งได้สนทนากัน เพราะฉะนั้น การพระราชพิธีฉัตรมงคลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการสวดมนต์ ในเดือน 6 ขึ้น 13 ค่ำ ขึ้น 14 ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้น 14 ค่ำ สวดมนต์ 15 ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และขึ้น 15 ค่ำ สวดมนต์ แรม 1 ค่ำ ฉันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

รัชกาลที่ 5 น้อยพระทัย พระราชพิธีฉัตรมงคลเหมือนเดิม
ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ การพระราชพิธีฉัตรมงคล ท่านผู้บัญชาการก็ให้คงทำอยู่เดือนหกเช่นนั้น ข้าพเจ้าได้ทักท้วงขึ้นก็ไม่ตลอดไปได้ ด้วยกรมหลวงวงศาธิราชสนิท และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นด้วย เถียงไปตามทางที่เป็นสมโภชพระที่นั่น อ้างคำฉันท์ก็ไม่อ่าน ข้าพเจ้าเป็นเด็กมีน้ำหนักน้อย และดูก็เป็นการไม่พอที่จะวิวาทกันด้วยเหตุไม่เป็นเรื่องจึงได้นิ่งระงับเสีย
จนถึงปีระกา เบญจศก เมื่อสร้างตราจุลจอมเกล้าเปลี่ยนได้ด้วย พาโลเป็นทำบุญตามพระราชบัญญัติวันประชุมตราจุลจอมเกล้า ก็นับได้อยู่ว่า เพราะเครื่องราชอิสริยยศจอมเกล้า พาให้เป็นที่ยินยอมพร้อมใจกันเปลี่ยนมาเดือน 12 ได้โดยไม่มีใครทักท้วงว่ากระไร ลืมการที่ได้เถียงกันในปีมะเส็ง เอกศกนั้นเสียสิ้น ในปีจอฉศก เป็นปีแรกทำการฉัตรมงคลในเดือน 12 เป็นการเรียบร้อยเหมือนไม่ได้เคยมีการฉัตรมงคลมาแต่ก่อนเลยทีเดียว

คำตักเตือนในการฉัตรมงคล

การฉัตรมงคลนี้คงทำตามแบบอย่างซึ่งได้ทำมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเต็มตามตำราอย่าง เพิ่มขึ้นแต่อาลักษณ์อ่านคำประกาศ ยิงสลุตในวันแรม 12 ค่ำ เพิ่งเกิดมีขึ้น เมื่อปีมะเมียจัตวาศก 1244 กับการที่ประชุมถวายบังคมพระบรมรูป ซึ่งมีขึ้นตามกฎหมายตราจุลจอมเกล้า

การพระราชกุศล คือ พระราชาคณะพระครูมีนิตยภัต วันละ 30 รูป สวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้าฉัน สำรับที่เลี้ยงพระเป็นของหลวงสำรับหนึ่ง นอกนั้นขอแรงพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทอง เป็นต้น ที่นมัสการตั้งพระชัยสำหรับแผ่นดิน 5 รัชกาลที่พระแท่นเศวตฉัตร ตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และพระแสงประจำแผ่นดิน มีเครื่องนมัสการทองน้อย ตั้งต้นไม้ทองเงิน 2 คู่ ตั้งบายศรีแก้วทองเงิน มีแว่นเวียนเทียน เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ แล้วอาลักษณ์อ่านคำประกาศเป็นกลอนลิลิต ฯลฯ
พระสงฆ์ที่จะมาสวดมนต์ และรับพระราชทานฉัน ควรจะใช้ตาลปัตรรอง และฝาบาตรเชิงบาตร ในการบรมราชาภิเษกในปีระกา เบญจศก และถ้าพอจะมาได้ไม่ควรจะบิดเบือนเชือนแชไปเที่ยวสวดมนต์เที่ยวฉันเสียที่อื่น เช่น พระธรรมเจดีย์ วัดอรุณ (พระธรรมเจดีย์ชื่อทอง ต้องลดยศพระเทพมุนี ภายหลังกลับได้เป็นพระธรรมไตรโลก) และพระธรรมภาณพิลาศ วัดประยูรวงศ์ (พระโพธิวงศ์ ชื่อผ่อง เป็นพระโพธิวงศ์ (เสมอเทพ) ต้องลดลงเป็นพระธรรมภาณพิลาศ ภายหลังได้พระราชทานพัดแฉกประดับพลอยอย่างเดิม) เพราะเป็นการสำคัญคล้ายถือน้ำพิพัฒน์สัตยา พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ถ้าไม่ป่วยไข้มากก็ไม่ควรจะขาด ในเวลาถวายบังคมพระบรมรูป ซึ่งเป็นการแสดงความเคารพนับถือต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งห้าพระองค์ปีละครั้ง

พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชกุศลในวันฉัตรมงคล รวม 3 วัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นพิธีสงฆ์ งานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ แล้วพระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี อุทิศถวายแด่พระบรมราชบุรพการี
ในวันที่ 4 พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานอัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร พระราชครูหัวหน้าพราหมณ์ อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์เย็น

ในวันฉัตรมงคล คือ วันที่ 5 พฤษภาคม ในตอนเช้าทรงพระราชทานภัตตาหารแด่พระสงฆ์ พราหมณ์เบิกแว่นเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตร และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เมื่อถึงเวลาเที่ยงตรง ทหารเรือและทหารบกยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ พร้อมกัน 2 กอง รวม 42 นัด นอกจากนี้ ยังมีพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราจุลจอมเกล้า ให้แก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานด้วย หลังจากนั้นทรงเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) และถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทเทพบิดร ในพระบรมมหาราชวัง

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม
พระปฐมราชโองการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช หรือ “ในหลวง” ของพสกนิกรชาวไทย ทรงพระราชทานไว้ในพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 จวบจนวันนี้ นับเป็นเวลา 60 ปีแล้ว ที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติ ปกครองพสกนิกรด้วยทศพิธราชธรรม ขจัดทุกข์ บำรุงสุขให้ไพร่ฟ้าประชาชนได้อยู่เย็นเป็นสุขภายใต้ร่มบรมโพธิสมภาร

“ดำริไว้สถิตในใจทั่วหล้า

ดำริก่อเกิดประชาแห่งฟ้าหลวง

ดำริในแผ่นดินไทยใจทุกดวง

ด้วยดำริแห่งพ่อหลวงของปวงไทย”

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า THAITOWN USA NEWS

(บทร้อยกรองของบริษัทในเครือเจเนซิสกรุ๊ป)


พิธีเวียนเทียนสมโภชสิริราชสมบัติ

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือเครื่องหมายแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ได้แก่ พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี ฉลองพระบาท

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ในวันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 (ภาพประกอบ จากแผ่นตราไปรษณียากรที่ระลึก และตราไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด)

เมื่อทรงเสด็จพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค เพื่อให้ราษฎรได้มีโอกาสเฝ้าชมพระบารมี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น