วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วันกองทัพไทย

ประวัติวันกองทัพไทย กองทัพไทยมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เคียงข้างกับการสร้างประเทศชาติให้เป็นปึกแผ่นและเจริญรุ่งเรืองมายาวนาน นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยที่ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้รวบรวมชาวไทยตั้งราชอาณาจักรโดยยึดหลักในการ สร้างกองทัพเพื่อป้องกันประเทศว่า “ชายฉกรรจ์ทุกคน ต้องเป็นทหาร เพื่อจะได้ ป้องกันบ้านเมืองให้ปลอดภัย”
ครั้นถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาปีพุทธศักราช ๑๙๙๑ ตรงกับ รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้มีการแบ่งกิจการทหารกับพลเรือนออกจากกัน ในส่วนราชการทหารทรงแต่งตั้งสมุหกลาโหมเป็นผู้บังคับ-บัญชา มีการจัดกำลังแบ่งเป็น ๔ เหล่า ได้แก่
ราบ (เดินเท้า) ม้า รถ ช้าง หรือที่เรียกว่า“จตุรงคเสนา”
ปีพุทธศักราช ๒๐๘๑ ในรัชสมัยพระชัยราชาธิราช ได้มีการใช้อาวุธที่ทันสมัยในกองทัพ โดยใช้ปืนไฟในการรบกับพม่าเป็นครั้งแรกที่เมืองเชียงกราน
ต่อมาปีพุทธศักราช ๒๑๙๙ จึงได้ริเริ่มสร้างปืนไฟขึ้นใช้เอง ประเทศไทยของเรานั้นเป็นประเทศที่มีอาณาเขตจรดทะเลและดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้มีความจำเป็นต้องมีทั้งกำลังทางเรือ และกำลังทางบกไว้เพื่อปกป้องราชอาณาจักร โดยในระยะแรกนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นต้นมา ยังไม่มีการแบ่งแยกทหารบกและทหารเรือ คงใช้ กองทัพในลักษณะรวมการปกป้องประเทศชาติตามแต่ว่าจะมีภัยรุกรานจากทางด้านใด
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาท-สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงริเริ่มให้มีการปรับปรุงกำลังทหารให้ทันสมัย ขึ้นเป็นครั้งแรก
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงได้ให้มีการปรับปรุงกิจการทหารแบบสมัยใหม่อย่างจริงจัง โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้น เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๓๐ เพื่อบังคับบัญชา ทหารบกและทหารเรืออย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และได้กำหนดให้วันที่ ๘ เมษายนของทุกปี เป็น “วันกลาโหม”และต่อมา ได้ถือว่าเป็น “วันกองทัพไทย”ปัจจุบันวันกองทัพไทยตรงกับวันที่ ๑๘ มกราคมของทุกปี โดยได้ถือเอาวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย คือ วันที่สมเด็จ- พระนเรศวรมหาราช ได้ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เมื่อวันจันทร์ เดือนสอง แรมสองค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ตรงกับวันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๑๓๕ เป็นจุดเริ่มต้นของวันกองทัพไทย
กองทัพไทย ได้ผ่านการพัฒนาและมีวิวัฒนาการก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้ในปัจจุบันสามารถมั่นใจได้ว่ากองทัพบกจะเป็นกำลังหลักที่สำคัญของชาติในการปกป้องอธิปไตยของประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับกองทัพเรือที่ปกป้องราชอาณาจักรทางทะเล และกองทัพอากาศ ในการทำหน้าที่ปกป้องน่านฟ้าไทย ทุกกองทัพต่างปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันในการป้องกันอธิปไตยของชาติ โดยมี กองบัญชาการทหารสูงสุด ทำหน้าที่ควบคุม บังคับบัญชา และประสานงาน ระหว่างเหล่าทัพทั้งสาม แม้ว่าประเทศไทยของเราจะคงความเป็นปึกแผ่นและมั่นคงมาเป็นเวลานับร้อยปีแล้ว กองทัพไทยของเราก็ยังคงปฏิบัติภารกิจสำคัญและทรงเกียรติ ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นภารกิจป้องกันการรุกรานภายนอกประเทศ หรือภารกิจเพื่อความมั่นคงภายในประเทศ การต่อต้านก่อการร้ายต่าง ๆ รวมทั้ง การพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพื่อสร้างสรรค์ความเจริญ และความสงบสุขในทุกๆ ด้านให้แก่ประชาชนชาวไทยตลอดไป
ธงชัยเฉลิมพล “ธงชัยเฉลิมพล” หมายถึง ธง ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งชัยชนะประจำหน่วยทหาร เป็นสิ่งชักนำความองอาจแห่งหมู่ทหารทั้งปวง ให้มีชัยชนะต่อข้าศึกด้วยความกล้าหาญ นอกจากนี้แล้วธงชัยเฉลิมพลยังประกอบด้วยสิ่งที่แสดงออกถึง ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดย
ธง หมายถึง ชาติ
บนยอดคันธงบรรจุพระพุทธรูป หมายถึงศาสนา
เส้นพระเจ้าของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หมายถึง พระมหากษัตริย์
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีตรึงหมุดธงในบริเวณพระบรมมหาราชวัง และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่บุคคลซึ่งเข้ามารับราชการทหารไม่ว่าจะเป็นหน่วยทหารหรือพลทหารจะต้องผ่านพิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพล จึงจะถือว่าเป็นทหารอย่างสมบูรณ์แท้จริง ปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นใหม่ กำหนดให้ธงชัยเฉลิมพลให้เป็นธงประจำหน่วยทหารสำหรับพระราชทานให้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
โดยธงชัยเฉลิมพลทหารบกมีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ
รูปสีเหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ ๗๐ เซนติเมตร
ตรงกลางผืนธงมีรูปอุณาโลมทหารบก
มีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้งโอบใต้อุณาโลม
ผืนธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาล เป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีแดง ขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้า
ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดง สลับดำ ส่วนด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลือง กว้าง ๒ เซนติเมตร
สำหรับ ธงชัยเฉลิมพลทหารเรือ มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ แต่ตรงกลางผืนธงรูปจักร ๘ แฉก แฉกของจักรเวียนไปทางซ้าย และมีสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหามงกุฎรูปเหล่านี้เป็นสีเหลือง
ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดง
ส่วนธงชัยเฉลิมพลทหารอากาศมีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ ๗๐ เซนติเมตร
ตรงกลางผืนธงมีดวงกลมสีฟ้า ภายในดวงกลมมีอุณาโลม ทหารอากาศและมีชื่อหน่วยทหารสีแดงขลิบริมสีเหลือง เป็นแถวโค้งโอบใต้ดวงกลมสีฟ้า
ผืนธงมุมด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานเป็นตัวเลขไทยสีเหลืองภายใต้พระมหามงกุฎ มีพระปรมาภิไธยย่อสีแดงขลิบริมสีเหลืองรัศมีสีฟ้า
ขอบธงด้านที่ติดกับคันธงมีเกลียวเชือกสีแดงสลับดำ ด้านอื่นมีแถบจีบสีเหลือง กว้าง ๒ เซนติเมตร
ธงชัยเฉลิมพล นอกจากจะเป็นที่รวมแห่งมิ่งขวัญ และจิตใจของทหารแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปในกองทัพที่ยกออกไปปฏิบัติหน้าที่ราชการสนามในการต่อสู้ข้าศึกศัตรูเพื่อรักษาเอกราชและอธิปไตยของประเทศชาติอีกด้วย
กำหนดการจัดงานวันกองทัพไทย มกราคม วันกองทัพไทย การจัดงานวันกองทัพไทย ในวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ และเตือนใจให้ประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าร่วมใจกันน้อมรำลึกถึงวีรกรรม และคุณงามความดีนักรบไทยที่ได้เสียสละเลือดเนื้อและชีวิตเพื่อ ปกป้อง รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยไว้ให้ลูกหลานสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันกองทัพไทย ๑๘ มกราคม ๒๕๕๐ นั้น กองบัญชาการทหารสูงสุด ได้จัดร่วมกับกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ดังนี้
เวลา ๐๘.๓๐ นาฬิกา ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานประกอบพิธีวางพวงมาลา สักการะดวงวิญญาณของนักรบไทยผู้กล้าหาญในอดีต ณ ลานประกอบพิธีอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง
เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา พิธีสงฆ์ และอุทิศส่วนกุศลแด่ดวงวิญญาณนักรบไทย ณ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง
เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน จัดนายทหารชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้แทนไปเยี่ยมและมอบของขวัญแก่ทหาร ตำรวจ พลเรือน อาสาสมัครที่ได้รับบาดเจ็บเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ป้องกันประเทศ ณ สถานพยาบาลหรือสถานพักฟื้นต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ณ โรงพยาบาลทหารผ่านศึกโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลภูมิพลอดุลเดช และโรงพยาบาลตำรวจ
เวลา ๑๔.๓๐ นาฬิกา พิธีกระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงไทยเฉลิมพล ณ ที่ตั้งหน่วยทหารแต่ละเหล่าทัพ ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สำคัญยิ่ง สำหรับผู้ที่เป็นทหารรับใช้ประเทศชาติ จะเป็นทหารที่สมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้กระทำสัตย์ปฏิญาณตนต่อธงชัยเฉลิมพลแล้วเท่านั้น
กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทำพิธีที่กองพันสื่อสารทหาร ทุ่งสีกัน ดอนเมือง กองทัพบก กระทำพิธีเป็นส่วนรวมที่กรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ บางเขน
กองทัพเรือ กระทำพิธีหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี กองทัพอากาศ กระทำพิธี ณ ลานอเนกประสงค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ ดอนเมือง
สำหรับหน่วยทหารอื่น ๆ ที่มีที่ตั้งนอกเขตจังหวัดทหารบก กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงกัน จะกระทำพิธีรวมกัน ณ ที่ตั้งหน่วยทหาร หรือพื้นที่ที่เหมาะสม
เวลา ๒๐.๒๐ – ๒๑.๐๐ นาฬิกา หลังข่าวประจำวัน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ กล่าวคำปราศรัยพร้อมเสนอผลงานที่สำคัญ ๆ ในรอบปีของกองบัญชาการทหารสูงสุด และเหล่าทัพ ทางสถานีโทรทัศน์ร่วมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถ่ายทอดทางสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ สำหรับการเผยแพร่กิจกรรมทหารกองบัญชาการทหารสูงสุดและเหล่าทัพ เสนอการกิจด้านการป้องกันประเทศ การสนับสนุนงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การฝึกบรรเทาสาธารณภัยร่วมระหว่าง ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย การปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ โดยนำเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ต่อจากคำปราศรัยของผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ

..................................................
เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาในอดีตครับ ปัจจุบัน อาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง